Copyright 2024 - Custom text here

พระมหาเจดีย์ชัยมงคล

พระมหาเจดีย์ชัยมงคล

     พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ตั้งอยู่ในอำเภอหนองพอกบนพื้นที่ ๑๐๑ ไร่  โดยตัวพระมหาเจดีย์ชัยมงคล มีความกว้าง ๑๐๑ เมตร ยาว ๑๐๑ เมตร และสูง ๑๐๑ เมตร (ต่อมามีการต่อยอดขึ้นเป็น ๑๐๙ เมตรเพื่อระลึกถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรีโดยเป็นงานผสมผสานศิลปะใหม่เก่าและสมัยใหม่อย่างลงตัว ตกแต่งอย่างวิจิตรลวดลายอย่างสวยงาม

     พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ตั้งอยู่บนยอดภูเขาเขียว แนวเทือกเขาภูพาน อำเภอหนองพอก ใกล้กันมีหน้าผาสูงชันซึ่งมีน้ำไหลตลอดปี ชาวบ้านเรียกว่า ผาน้ำย้อย ซึ่งจะเป็นที่ตั้งของวัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วราราม มีบันไดราวสูงชันสำหรับไต่ลงไปได้ น้ำที่ไหลนี้จะไหลตลอดปี

     พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ได้รับการออกแบบให้เป็นศิลปกรรมร่วมสมัยระหว่างภาคกลางและภาคอีสาน เป็นการผสมผสานระหว่างพระปฐมเจดีย์และพระธาตุพนม ออกแบบโดยกรมศิลปากร ตัวเจดีย์เป็นสีขาวตกแต่งลวดลาย ตระการตาด้วย สีทองเหลืองอร่าม รายล้อมด้วยเจดีย์องค์เล็กทั้ง ๘ ทิศ ส่วนปลายยอดฉัตรทอง ๙ ชั้น ใช้ทองคำหนัก ๔,๗๕๐ บาท หรือประมาณ ๖๐ กิโลกรัม เป็นพระเจดีย์ที่ใหญ่องค์หนึ่งของประเทศไทย มีความกว้าง ๑๐๑  เมตร ความยาว ๑๐๑ เมตร ความสูง ๑๐๑ เมตร สร้างในเนื้อที่ ๑๐๑ ไร่ ใช้งบประมาณก่อสร้างจนถึงปัจจุบันกว่า ๓,๐๐๐ ล้านบาท ดำเนินการสร้างโดย พระอาจารย์ศรี มหาวิโร ซึ่งเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งมีทั้งหมด ๗ ชั้น สามารถขึ้นไปได้ถึงแค่ชั้น ๕ ส่วนชั้นที่ ๖ และชั้นที่ ๗ เป็นองค์เจดีย์รูประฆัง และยอดฉัตรทอง ซึ่งแต่ละชั้นมีรายละเอียดดังนี้

     ชั้นที่ ๑ เป็นห้องโถงกว้างใหญ่ โอ่อ่า ผนังจารึกนามทานาธิบดีต่าง ๆ ใช้เป็นห้องประชุม บำเพ็ญบุญ มีรูปปั้นหลวงปู่ศรี มหาวีโร ผู้ก่อตั้ง
     ชั้นที่ ๒ เป็นห้องโถงโอ่อ่าเช่นกัน ผนังติดตั้งรูปพระพุทธประวัติ ลวดลาย ไทยวิจิตรพิสดาร ใช้เป็นห้องประชุมสงฆ์ขนาดใหญ่ รองรับพระภิกษุสงฆ์ได้ ๒,๐๐๐-,๐๐๐ รูป
     ชั้นที่ ๓ เป็นที่ประดิษฐานรูปพระณาจารย์ ปราชญ์ อีสานในอดีต เป็นรูปเหมือนสลักหินอ่อน และหุ่นรูปเหมือนพระสุปฏิปัน โน ๑๐๑ องค์
     ชั้นที่ ๔ จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงวัดวาอาราม สถานปฏิบัติสม ถะวิปัสสนา กรรมฐานที่หลวงปู่ศรี เคยบำเพ็ญธรรมม ด้านนอกจัดเป็นที่สามารถชมทัศนียภาพได้รอบทิศ
     ชั้นที่ ๕ บันไดเวียน ๑๑๙ ชั้น เป็นห้องโถงรูประฆัง ๘ เหลี่ยมบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
     ชั้นที่ ๖ และ ๗ เป็นองค์เจดีย์รูประฆังและยอดฉัตร ไม่สามารถขึ้นไปได้

     ในวันรวมกฐินสามัคคีที่วัดประชาคมวนาราม(วัดป่ากุง)ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ หลวงปู่ศรีมหาวีโรได้ปรารภท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์ว่า  ท่านได้รับพระบรมสารีริกธาตุมาเป็นกรณีย์พิเศษและท่านได้พิจารณาเห็นว่าครูบาอาจารย์สายอีสานผู้มีความรู้ระดับนักปราชญ์และปฏิบัติชอบระดับสัมมาปฏิบัติ  ที่ได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นที่ภาคอีสานมีเป็นจำนวนมาก
น่าจะสร้างถาวรวัตถุสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อัฐิธาตุ  รูปเหมือนของครูบาอาจารย์เหล่านั้นเพื่อเป็นศูนย์กลางและแหล่งความรู้แก่พระภิกษุสงฆ์และพุทธศาสนิกชนผู้มาศึกษาปฏิบัติบำเพ็ญสมถวิปัสสนากรรมฐานแก่ที่มาจากทิศต่างๆให้ได้รับความสะดวกที่จะศึกษาหาความรู้และจัดเป็นสถานที่สักการบูชา  บำเพ็ญบุญกุศลของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ต่อมาได้มีการประชุมพระสังฆาธิการภาค ๘-๙-๑๐-๑๑  (ธรรมยุต) โดยมีสมเด็จพระมหามุนีวงค์ (สนั่น จันทปชฺโชโต) เป็นองค์ประธาน
     หลวงปู่ศรี มหาวีโร ได้นำเรื่องที่ได้รับพระบรสารีริกธาตุ  เข้าปรึกษาหารือในที่ประชุม ที่ประชุมได้มีมติให้หลวงปู่ศรี  มหาวีโรเป็นผู้นำในการก่อสร้าง และได้ลงความเห็นร่วมกันว่าควรจะก่อสร้างเจดีย์ที่ผาน้ำย้อย บนภูเขาเขียว ในเขตอำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด  ที่ประชุมมีเหตุผลร่วมกันว่า เมื่อมีการก่อสร้างเจดีย์ขึ้นหมู่คณะทั้งหมดในภาคอีสาน ๔ ภาค เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค  และเจ้าอาวาสทุกวัดจะได้ใช้ประโยชน์จากสถานที่แห่งนี้ร่วมกันซึ่งมีความเห็นพร้อมให้เอาเจดีย์ที่ผาน้ำย้อยนี้เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาในภาคอีสาน  เจดีย์นี้ก็เกิดขึ้นด้วยการลงมติของหมู่คณะสงฆ์ทั้งหมดในภาคอีสาน
  (หลวงปู่เองเคยปรารภไว้ว่า  “คนคงไม่เข้าใจกันคงนึกว่าทางวัดสร้างเองแต่เรานั้นสร้างในนามของหมู่คณะนะ  ไม่ทำเฉพาะในด้านพระพุทธศาสนาก็ทั่วกันไปหมด ใครได้สร้างประโยชน์ส่วนใหญ่ส่วนรวมจะเป็นบันไดหรือหนทางนำไปสู่ความสุขความเจริญ  ผลของการกระทำทั้งหลายนี้มันจะกลับมาสู่ตัวเราทั้งนั้น  ไม่ได้หนีไปทางอื่นทำให้คนอื่นจริงอยู่แต่มันจะกลับมาหาเรา  การกระทำทุกอย่างก็เป็นผลประโยชน์แก่ตัวของเราเองนั่นแหละ  ท่านไปอยู่ให้เกิดบุญกุศลเฉยๆ ฉะนั้นการกระทำเหล่านี้จะเป็นบันไดที่จะเดินไปสู่ความสุขชั้นสูง)  ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุณีวงศ์(สนั่น จันทปชฺโชโต)จึงนำความขึ้นกราบทูล  สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกๆ ได้มีพระบัญชาให้หลวงปู่ศรี  มหาวีโร วัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) เป็นผู้นำในการหาสถานที่และการก่อสร้าง  ในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๓๐ ท่านได้ประชุมคณะกรรมการก่อสร้างพระมหาเจดีย์ชัยมงคล  โดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธานฝ่ายบรรพชิต และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบกและรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธานฝ่ายฆราวาสในการก่อสร้างเจดีย์และให้เรียกเจดีย์นี้ว่า พระมหาเจดีย์ชัยมงคล  และได้มอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการออกแบบ  กรมศิลปากรก็ได้ออกแบบมาให้ในลักษณะของศิลปผสมผสานของศิลปอีสานและศิลปไทยของภาคกลางและได้เพิ่มเติมตามแนวคิดของ ดร.ภูเทพ สิทธิถาวร  ซึ่งขณะนั้นยังบวชอยู่ว่าเจดีย์นี้ควรมีลักษณะภายในโล่งเพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ภายในองค์เจดียืได้ดังที่ได้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
     สำหรับ ดร.ภูเทพ สิทธิถาวร ท่านนี้ คุณย่าจินตนา ไชยกูล  ผู้เป็นมารดาซึ่งต่อมาได้เป็นมหาศรัทธานำพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าร่วมกันถวายเงินสร้างองค์พระมหาเจดีย์  เป็นผู้นำมาบวชกับหลวงปู่ศรี มหาวีโร และดร. ภูเทพฯ ก็ได้เทศนาโปรดมารดาจนคุณย่าจินตนา ไชยกูล ได้มองเห็นธรรม และได้ถวายปัจจัยกับหลวงปู่ศรี มหาวีโร  ๒๐๐,๐๐๐ บาท  เพื่อเป็นการหาทุนในการก่อสร้างเบื้องต้น  วัดต่างๆในสายธรรมยุตทั่วทั้งภาคอีสานจึงจัดให้มีการทอดผ้าป่าพระมหาเจดีย์ขึ้น  โดยเป็นการร่วมใจของวัดและพุทธศาสนิกชนทั่วภาคอีสาน ๑๙ จังหวัด โดยจัดเป็นกองผ้าป่า  ๘๔,๐๐๐ กองๆละ ๑,๐๐๐ บาท ได้ปัจจัยรวมทั้งสิ้น ๘๔  ล้านบาทเป็นทุนในการเริ่มต้นก่อสร้าง  และได้จัดพิธีทอดผ้าป่าเป็นประเพณีตลอดมาทุกๆปี พระมหาเจดีย์ชัยมงคล  ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้าง โดยทำพิธีวางศิลาฤกษ์และลงเสาเอกในวันที่ ๓๐ มกราคม  พ.ศ.๒๕๓๑ พระมหาเจดีย์ชัยมงคลเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ มีความกว้าง ๑๐๑ เมตรยาว ๑๐๑ เมตร ความสูง ๑๐๑ เมตร สร้างในบริเวณเทือกเขาเขียวซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ ๑๒๔,๐๐๐ ไร่  โดยมีทางขึ้นอยู่ที่บ้านท่าสะอาด ตำบลผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด  เฉพาะวัดเจดีย์ชัยมงคล มีเนื้อที่ ๑๐๑ ไร่ แวดล้อมด้วยธรรมชาติที่สวยงาม  บนหลังเขาซึ่งเป็นเทือกเขาเขียวมีสภาพเป็นป่าดงดิบ เต็มไปด้วยป่าไม้นานาพันธุ์  รอบภูเขามีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชันคล้ายกำแพงธรรมชาติโอบล้อมไว้ วัดเจดีย์ชัยมงคล  มีกำแพงล้อมวัดยาว ๓,๕๐๐ เมตร ซึ่งสมควรเรียกว่ากำแพงแห่งศรัทธา  เพราะเป็นกำแพงที่รวมศรัทธาของพุทธศาสนิกชนแทบจะทุกหมู่เหล่า  มาร่วมแรงและร่วมใจกันก่อสร้างถวายบูชาคุณหลวงปู่ศรีมหาวีโรโดยมีพระครูปลัดทองอินทร์ กตปุญฺโญ (หลวงพ่ออินทร์)  เป็นผู้นำในการดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งเริ่มลงมือก่อสร้างในปี พ.ศ.๒๕๔๐ และมาแล้วเสร็จในปีพ.ศ.๒๕๔๖ ลักษณะของกำแพงเป็นกำแพงซึ่งก่อด้วยอิฐมวลผสมซึ่งใช้หินลูกรังบดผสมกับปูนซีเมนต์อัดเป็นก้อนอิฐ  โดยใช้แรงงานของและความคิดของพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ผลิตก้อนอิฐทุกๆก้อน  และพุทธศาสนิกชนซึ่งมีความศรัทธาในองค์หลวงปู่ศรี มหาวีโร เป็นผู้มีส่วนร่วมในการผลิตและร่วมในการก่อสร้างโดยไม่คิดค่าตอบแทนเลย  เป็นพลังศรัทธาของมวลชนทุกหมู่เหล่าอย่างแท้จริง  เมื่อดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างของอาคารภายนอกและภายในองค์พระมหาเจดีย์แล้วเสร็จ  ก็ได้ทำพิธียกยอดฉัตรทองคำซึ่งมีน้ำหนักทองคำรวมทั้งสิ้น ๔,๗๕๐ บาทขึ้นประดิษฐานไว้บนยอดของพระมหาเจดีย์  ต่อมาเมื่อทำการตกแต่งภายในของพระมหาเจดีย์ชั้นที่ ๖ แล้วเสร็จก็ได้ทำพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ขึ้นประดิษฐานไว้ ณ ชั้นที่ ๖  ซึ่ง พระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ ณ ชั้น ๖ นั้น มีถึง ๓ องค์ด้วยกัน

     องค์ที่ ๑ เป็นองค์ที่ พระเทพวิสุทธิมงคล (หลวงปู่ศรี มหาวีโร) ได้รับมาเป็นกรณีย์พิเศษ 

     องค์ที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราชของประเทศศรีลังกาได้มอบให้ โดยพระเทพวิสุทธิมงคล(หลวงปู่ศรี มหาวีโร) ได้เดินทางไปอัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกาด้วยตัวของท่านเอง
     องค์ที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราชของประเทศศรีลังกาได้อัญเชิญมามอบให้ด้วยพระองค์เอง ในวันที่มีการทำพิธีสมโภชพระบรมสารีริกธาตุที่วัดถ้ำผาน้ำทิพย์ (วัดผาน้ำย้อย) และอัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ ณ ชั้นที่ ๖ ด้วยพระองค์เองด้วย  นอกจากพระบรมสารีริกธาตุทั้ง ๓ องค์แล้วยังได้อัญเชิญพระอัฐิธาตุของครูบาอาจารย์ซึ่งสำเร็จเป็นพระอรหันต์ กระดูกกลายเป็นพระธาตุเป็นแก้วใสสีต่างๆ  ประดิษฐานไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้เคารพกราบไหว้เพื่อเป็นศิริมงคลกับชีวิตสืบต่อไปอีกนานเท่านาน
          องค์พระมหาเจดีย์ชัยมงคลเป็นเจดีย์องค์ใหญ่รายล้อมด้วยเจดีย์เล็กทั้ง ๘ ทิศ  เรียงรายด้วยวิหารคดรอบองค์พระมหาเจดีย์ไว้อีกชั้นหนึ่ง  รูปทรงพระมหาเจดีย์เป็นรูปทรง ๘ เหลี่ยมแบ่งเป็น ๖ ชั้นตามลำดับ ดังนี้

     ชั้นที่ ๑ เป็นชั้นเอนกประสงค์มีรูปเหมือนองค์หลวงปู่ยืนเด่นเป็นประธานอยู่กลาง เป็นห้องโถง กว้างขวาง โอ่อ่า สำหรับการประชุมต่างๆ รอบฝาผนังด้านในจารึกนามผู้บริจาคสมทบทุนก่อสร้าง

     ชั้นที่ ๒  จัดเป็นห้องประชุมสัมมนาขนาดใหญ่สำหรับประชุมปฏิบัติธรรมพระสังฆาธิการ  หรือกาประชุมสัมมนาทั่วไป    

     ชั้นที่ ๓ เป็นอุโบสถสังฆกรรม ประชุมสงฆ์ เป็นที่ประดิษฐานพระประธาน พระคณาจารย์ ปราชญ์อีสานในอดีต
ซึ่งเป็นรูปเหมือนสลักด้วยหินทราย ๑๐๑ องค์

     ชั้นที่ ๔ เป็นสถานที่ชมวิวรอบพระมหาเจดีย์ ด้านบนกรอบซุ้มหน้าต่างมีพระพุทธรูป ๔ ปางยืนประจำทิศต่างๆ

     ชั้นที่ ๕ เป็นพิพิธภัณฑ์สถาน  ไว้เก็บอัฏฐะบริขารของหลวงปู่ซึ่งขณะนี้กำลังรวบรวมอยู่ ชั้น ๖ อยู่เหนือสุดบันได
๑๑๙ ขั้น เป็นห้องโถงรูประฆังทองคำ ๘ เหลี่ยม ๘ทิศ  ตรงกลางห้องเป็นเจดีย์เล็กเป็นที่ประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุองค์มิ่งมหามงคลของเจดีย์

     ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ทางพระมหาเจดีย์ชัยมงคลได้รับอนุญาตให้ก่อตั้งวัดลงประกาศวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๘ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๙ ณ ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ การก่อสร้างพระมหาเจดีย์ลุล่วงไปกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว และได้เปิดให้สาธารณชนเข้ามาสักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุได้ตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ เป็นต้นมาการก่อสร้างที่ผ่านๆมาได้ใช้งบประมาณไปหลายล้านบาท โดยได้รับมาจากการบริจาคตามจิตศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจากหลายประเทศ ปัจจุบันสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้มีคำสั่งแต่งตั้งพระครูปลัดทองอินทร์ กตปุญฺโญ (หลวงพ่ออินทร์) เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งขณะนี้ท่านเป็นผู้นำคณะศิษยานุศิษย์ในการก่อสร้างพระมหาเจดีย์แทนองค์หลวงปู่ให้แล้วเสร็จเพื่อเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา อาจาริยบูชา ตามเจตนารมณ์ขององค์หลวงปู่ที่พาดำเนินมา เวลานี้หลวงปู่เองยังอาพาธอยู่ด้วยโรคชราโดยคณะแพทย์ได้ถวายการรักษาธาตุขันธ์ท่านอยู่ในโรงพยาบาลศรีนครินทร์    มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปัจจุบันนี้ได้มีบุคคลบางกลุ่มแอบอ้างสร้างวัตถุมงคลเขียนชื่อของหลวงปู่ออกมามากมายว่าเป็นรุ่นนั้นรุ่นนี้ที่จริงแล้วไม่มีในปฏิปทาของครูบาอาจารย์กรรมฐานแต่เป็นการสร้างกันเอง  หลวงปู่ไม่เคยอนุญาตให้สร้างวัตถุมงคลหรือสร้างรูปเหรียญของท่านออกมาเพื่อหาเงินมาสร้างเจดีย์แต่อย่างใดส่วนมากมักจะแอบอ้างว่าเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดท่านเป็นคนสร้างขึ้นมา กลุ่มผู้ที่อ้างตนเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดหลวงปู่บางกลุ่มยังไม่หยุดการกระทำดังกล่าวแทนที่จะเร่งรีบประพฤติปฏิบัติตามปฏิปทาคำสอนของท่านกลับเร่งผลิตวัตถุมงคลออกมาดังกล่าว เพื่อรักษาระเบียบวัตรปฏิบัติปฏิปทาอันดีงามขององค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์แล้ว หากใครที่ยังเคารพศรัทธาต่อองค์หลวงปู่ก็ขอให้หยุดการกระทำที่นำความเสื่อมเสียมาสู่คณะสงฆ์ส่วนใหญ่ดังกล่าวซึ่งที่ประชุมสงฆ์วัดประชาคมวนารามได้มีการประชุมใหญ่ในงานกฐินสามัคคีเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ก็ได้มีมติสั่งห้ามออกไปแล้วก็ขอให้ความเคารพต่อมติสงฆ์ด้วย เพื่อความสะดวกเรียบร้อยและถูกต้องหากผู้มีจิตศรัทธาต้องการบริจาคโปรดติดต่อที่เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ชัยมงคลหรือใส่ที่ตู้บริจาคภายในบริเวณองค์พระมหาเจดีย์ชัยมงคลเท่านั้น และเพื่อป้องกันมิจฉาชีพที่จะแอบแฝงเข้ามา อย่าได้หลงเชื่อหากมีผู้แอบอ้างไปตั้งตู้บริจาคตามสถานที่ต่างๆหรือขอรับบริจาคโดยไม่มีการขออนุญาตจากทางวัดได้ เพราะทางกรรมการการก่อสร้างของวัดไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดหรือคณะใดออกไปตั้งตู้รับบริจาคหรือรับบริจาคนอกสถานที่ ส่วนการบริจาคที่ถูกต้องนั้นจะได้รับใบอนุโมทนาจากวัดพระเจดีย์ชัยมงคลที่มีลายเซ็นต์เจ้าอาวาสวัดซึ่งจะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามกฎหมายเท่านั้น หากมีผู้ใดกระทำการรับบริจาคโดยไม่ได้ขออนุญาตจากทางวัดดังกล่าว ทางกรรมการของวัดเจดีย์ชัยมงคลจะดำเนินการตามกฎหมายทันที

ข้อปฏิบัติในการขึ้นไปนมัสการองค์พระมหาเจดีย์

๑. ถอดหมวก ถอดรองเท้า

๒. อย่าส่งเสียงดัง ห้ามนำสัตว์เลี้ยงขึ้นบนเจดีย์

๓. กรุณาอย่าจับต้องลวดลายต่าง ๆ

๔. ไม่นำอาหาร ขนม เครื่องดื่ม ขึ้นไปรับประทานบนพระมหาเจดีย์

๕. กรุณาทิ้งขยะในที่เตรียมไว้ให้

๖. ห้ามจูดธูป-เทียนในองค์พระมหาเจดีย์

๗. กรุณาแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย

 

๘. ห้ามสูบบุหรี่ และเสพของมึนเมา

การเดินทาง

      .รถส่วนตัว  จากตัวเมืองร้อยเอ็ด นั้นใช้เส้นทาง ร้อยเอ็ด - โพนทอง – หนองพอก ระยะทาง ๗๘ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๔๔ และ ๒๑๓๖ ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงถึงอำเภอหนองพอก  ต่อไปยังบ้านท่าสะอาด ตำบลผาน้ำย้อย ๕ กม.  เลี้ยวขวาและขึ้นเขาเขียวไปอีก ๕ กม. ก็จะถึงวัดเจดีย์ชัยมงคลสถานที่ตั้งของ พระมหาเจดีย์ชัยมงคล 
     .รถประจำทาง  สถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ สายที่ผ่านอำเภอหนองพอก จะเป็น กรุงเทพฯ-มุกดาหาร ถ้าเป็นกรุงเทพฯ-ร้อยเอ็ด จะถึงแค่อำเภอเมือง จากนั้นเหมารถสองท้องถิ่นในอำเภอเพื่อเดินทางไปยังวัดมหาเจดีย์ชัยมงคล    

f t g m